วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

สื่อการเรียนการสอน


สื่อการเรียนการสอน
จุฬาลักษณ์ สิขิวัฒน์ (2551) ได้รวบรวมเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอนไว้ว่า
ความหมายของสื่อการเรียนการสอนว่าเป็นเครื่องช่วยในการเรียนรู้ ซึ่งครูและนักเรียนเป็นผู้ใช้เพื่อช่วยให้ การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วน Haas and Packer (1964 อ้างถึงในพิมพ์ใจ ภิบาลสุข & สันทัด ภิบาลสุข , 2523) กล่าวไว้ว่าสื่อการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่ช่วยครูถ่ายทอดข้อเท็จจริง ทักษะ เจตคติ ความรู้และความซาบซึ้งไปยังผู้เรียน พิมพ์ใจ ภิบาลสุข และสันทัดภิบาลสุข (2523) กล่าวว่าสื่อการเรียนการสอนหมายถึงสิ่งต่างๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือหรือช่องทางสำหรับถ่ายทอดหรือนำความรู้หรือประสบการณ์ไปสู่ผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงสรุปได้ว่า สื่อการเรียนการสอน หมายถึง ตัวกลางหรือช่องทางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ จากแหล่งความรู้ไปสู่ผู้เรียน และทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นผู้เรียนจะบรรลุจุดประสงค์การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนอก จากผู้สอนจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ แล้วจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อนำสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ไปสู่ ผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ การใช้สื่อการเรียนการสอนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนของผู้เรียนและผู้สอน สามารถสรุปบทบาทของสื่อการเรียนการสอน ไว้ดังนี้

บทบาทของสื่อกับผู้สอน
1. ช่วยให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้หลากหลาย
2. ช่วยให้ครูสอนตรงจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้
3. ช่วยให้ครูสามารถสอนถูกต้องและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สื่อกับผู้เรียน
1. ช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตามสภาพจริง
2. สามารถพัฒนาเจตคติของผู้เรียนได้
3. ช่วยให้ผู้เรียนทั้งชั้นหรือทั้งกลุ่มได้รับประสบการณ์พร้อมกันเพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งกันและกัน
4. ช่วยนำสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือสิ่งที่อยู่ไกลมาศึกษาในชั้นเรียนได้
5. ช่วยประหยัดเวลาในการเรียนรู้
6. ช่วยเพิ่มหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจตลอดเวลา
7. ส่งเสริมให้ผู้เรียนแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

ครูบ้านนอก.com (2560) ได้รวบรวมเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอนไว้ว่า
สื่อการเรียนการสอนหรืออาจจะเรียกสั้นๆ ว่า สื่อการสอนหมายถึงสิ่งใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นเทปบันทึกเสียง สไลด์ วิทยุ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ แผนภูมิ รูปภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นวัสดุบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอน หรือเป็นอุปกรณ์เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาสิ่งเหล่านี้เป็นวัสดุอุปกรณ์ทางกายภาพที่นำมาใช้เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือหรือช่องทางทำให้การสอนส่งไปถึงผู้เรียน

สื่อการเรียนการสอนตามทรัพยากรการเรียนรู้  5  รูปแบบ ได้แก่
1. คน (people) “คนตามความหมายของการประยุกต์ใช้ ได้แก่ คนที่ทำงานหรือมีความชำนาญงานในแต่ละสาขาซึ่งมีอยู่ในวงสังคมทั่วไป คนเหล่านี้เป็น ผู้เชี่ยวชาญซึ่งถึงแม้มิใช่นักศึกษาแต่สามารถจะช่วยความสะดวกหรือเชิญมาเป็นวิทยาการเพื่อเสริมการเรียนรู้ได้ในการให้ความรู้แต่ละด้าน
2. วัสดุ (materials) ในการศึกษาโดยตรงเป็นประเภทที่บรรจุเนื้อหาบทเรียนโดยรูปแบบของวัสดุมิใช่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เช่น หนังสือ สไลด์ แผนที่ แผ่นซีดี หรือสื่อต่างๆ
3. อาคารสถานที่ (settings) หมายถึง ตัวตึก ที่ว่าง สิ่งแวดล้อม
4. เครื่องมือและอุปกรณ์ (tools and equipment) เป็นทรัพยากรทางการเรียนรู้เพื่อช่วยในการผลิตหรือใช้ร่วมกับทรัพยากรอื่นๆ
5. กิจกรรม (activities) โดยทั่วไปแล้วกิจกรรมที่ใช้ในการเรียนการสอนมักจัดขึ้นเพื่อร่วมกระทำทรัพยากรอื่นๆ หรือเป็นเทคนิควิธีการพิเศษเพื่อการเรียนการสอน

ครูเชียงรายดอทเน็ต (2555) ได้รวบรวมเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอนไว้ว่า
สื่อการเรียนการสอน หมายถึง ตัวกลางหรือช่องทางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะ ประสบการณ์ จากแหล่งความรู้ไปสู่ผู้เรียน และทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเภทของสื่อการเรียนการสอน
สื่อการเรียนการสอนแบ่งตามคุณลักษณะได้ 4 ประเภทคือ
1. สื่อประเภทวัสดุ ได้แก่สไลด์ แผ่นใส เอกสาร ตำรา สารเคมี สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และคู่มือการฝึกปฏิบัติ
2. สื่อประเภทอุปกรณ์ ได้แก่ของจริง หุ่นจำลอง เครื่องเล่นเทปเสียง เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เครื่องฉายแผ่นใส อุปกรณ์และเครื่องมือในห้องปฏิบัติกา
3. สื่อประเภทเทคนิคหรือวิธีการ ได้แก่การสาธิต การอภิปรายกลุ่ม การฝึกปฏิบัติการฝึกงาน การจัดนิทรรศการ และสถานการณ์จำลอง
4. สื่อประเภทคอมพิวเตอร์ ได้แก่คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) การนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer presentation) การใช้ Intranet และ Internet เพื่อการสื่อสาร (Electronic mail: E-mail) และการใช้ WWW (World Wide Web)

สื่อการเรียนการสอนจำแนกตามประสบการณ์
1. ประสบการณ์ตรงและมีความมุ่งหมาย ประสบการณ์ขั้นนี้ เป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาทั้งปวง เป็นประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับมาจากความเป็นจริงและด้วยตัวเองโดยตรง ผู้รับประสบการณ์นี้จะได้เห็น ได้จับ ได้ทำ ได้รู้สึก และได้ดมกลิ่นจากของจริง ดังนั้นสื่อการสอนที่ไห้ประสบการณ์การเรียนรู้ในขั้นนี้ก็คือของจริงหรือความเป็นจริงในชีวิตของคนเรานั่นเอง
2. ประสบการณ์จำลอง เป็นที่ยอมรับกันว่าศาสตร์ต่างๆ ในโลก มีมากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้หมดสิ้นจากประสบการณ์ตรงในชีวิต บางกรณีก็อยู่ในอดีต หรือซับซ้อนเร้นลับหรือเป็นอันตรายไม่สะดวกต่อการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จึงได้มีการจำลองสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาเพื่อการศึกษา ของจำลองบางอย่างอาจจะเรียนได้ง่ายกว่าและสะดวกกว่า
3. ประสบการณ์นาฏการ ประสบการณ์ต่าง ๆ ของคนเรานั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่สามารถประสบได้ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์ในอดีต เรื่องราวในวรรณคดี การเรียนในเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ หรือเรื่องธรรมชาติที่เป็นนามธรรม การแสดงละครจะช่วยไปให้เราได้เข้าไปใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด เช่น ฉาก เครื่องแต่งตัว เครื่องมือ หุ่นต่าง ๆ เป็นต้น
4. การสาธิต การสาธิต คือ การอธิบายถึงข้อเท็จจริงหรือแบ่งความคิด หรือกระบวนการต่าง ๆให้ผู้ฟังแลเห็นไปด้วย เช่น ครูวิทยาศาสตร์เตรียมก๊าซออกซิเจนให้นักเรียนดู ก็เป็นการสาธิต การสาธิตก็เหมือนกับนาฏการ หรือการศึกษานอกสถานที่ เราถือเป็นสื่อการสอนอย่างหนึ่ง ซึ่งในการสาธิตนี้อาจรวมเอาสิ่งของที่ใช้ประกอบหลายอย่าง นับตั้งแต่ของจริงไปจนถึงตัวหนังสือ หรือคำพูดเข้าไว้ด้วย แต่เราไม่เพ่งเล็งถึงสิ่งเหล่านี้ เราจะให้ความสำคัญกับกระบวนการทั้งหมดที่ผู้เรียนจะต้องเฝ้าสังเกตอยู่โดยตลอด
5. การศึกษานอกสถานที่ การพานักเรียนไปศึกษานอกสถานที่ เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเพื่อให้นักเรียนได้เรียนจากแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ที่มีอยู่จริงภายนอกห้องเรียน ดังนั้นการศึกษานอกสถานที่จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่เป็นสื่อกลางให้นักเรียนได้เรียนจากของจริง
6. นิทรรศการ นิทรรศการมีความหมายที่กว้างขวาง เพราะหมายถึง การจัดแสดงสิ่งต่างๆเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ชม ดังนั้นนิทรรศการจึงเป็นการรวมสื่อต่าง ๆ มากมายหลายชนิด การจัดนิทรรศการที่ให้ผู้เรียนมามีส่วนร่วมในการจัด จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดสร้างสรรค์มีส่วนร่วม และได้รับข้อมูลย้อนกลับด้วยตัวของเขาเอง
7. โทรทัศน์และภาพยนตร์ โทรทัศน์เป็นสื่อการสอนที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน เพราะได้เห็นทั้งภาพและได้ยินเสียงในเวลาเดียวกัน และยังสามารถแพร่และถ่ายทอดเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ด้วย นอกจากนั้นโทรทัศน์ยังมีหลายรูปแบบ เช่น โทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งโรงเรียนสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีโทรทัศน์วงจรปิด ที่เอื้อประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างกว้างขวาง ภาพยนตร์เป็นสื่อที่จำลองเหตุการณ์มาให้ผู้ชมหรือผู้เรียนได้ดูและได้ฟังอย่างใกล้เคียงกับความจริง แต่ไม่สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ ถึงอย่างไรก็ตามภาพยนตร์ก็ยังนับว่าเป็นสื่อที่มีบทบาทมากในการเรียนการสอน เช่นเดียวกันกับโทรทัศน์
8. ภาพนิ่ง การบันทึกเสียง และวิทยุ ภาพนิ่ง ได้แก่ ภาพถ่าย ภาพวาดซึ่งมีทั้งภาพทึบแสงและโปร่งแสง ภาพทึบแสงคือรูปถ่าย ภาพวาด หรือภาพในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ส่วนภาพนิ่งโปร่งใสหมายถึงสไลด์ ฟิล์มสตริป ภาพโปร่งใสที่ใช้กับเครื่องฉายวัสดุโปร่งใส เป็นต้น ภาพนิ่งสามารถจำลองความเป็นจริงมาให้เราศึกษาบนจอได้ การบันทึกเสียง ได้แก่ แผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียง เทปและเครื่องบันทึกเสียง และเครื่องขยายเสียงตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเสียงซึ่งนอกจากจะสามารถนำมาใช้อย่างอิสระในการเรียนการสอนด้วยแล้ว ยังใช้กับรายการวิทยุและกิจกรรมการศึกษาอื่น ๆ ได้ด้วย ส่วนวิทยุนั้น ปัจจุบันที่ยอมรับกันแล้วว่า ช่วยการศึกษาและการเรียนการสอนได้มาก ซึ่งไม่จำกัดอยู่แต่เพียงวิทยุโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงวิทยุทั่วไปอีกด้วย
9. ทัศนสัญลักษณ์ สื่อการสอนประเภททัศนสัญญลักษณ์นี้ มีมากมายหลายชนิด เช่น แผนภูมิแผนภาพ แผนที่ แผนผัง ภาพโฆษณา การ์ตูน เป็นต้น สื่อเหล่านี้เป็นสื่อที่มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์สำหรับถ่ายทอดความหมายให้เข้าใจได้รวดเร็วขึ้น
10.วัจนสัญลักษณ์ สื่อขั้นนี้เป็นสื่อที่จัดว่า เป็นขั้นที่เป็นนามธรรมมากที่สุด ซึ่งได้แก่ตัวหนังสือหรืออักษร สัญลักษณ์ทางคำพูดที่เป็นเสียงพูด ความเป็นรูปธรรมของสื่อประเภทนี้จะไม่คงเหลืออยู่เลย อย่างไรก็ดี ถึงแม้สื่อประเภทนี้จะมีลักษณะที่เป็นนามธรรมที่สุดก็ตามเราก็ใช้ประโยชน์จากสื่อประเภทนี้มาก เพราะต้องใช้ในการสื่อความหมายอยู่ตลอดเวลา

สื่อการเรียนการสอนจำแนกตามคุณสมบัติ Wilbure Young ได้จัดแบ่งไว้ดังนี้
1. ทัศนวัสดุ (Visual Materials) เช่น กระดานดำ กระดานผ้าสำลี) แผนภูมิ รูปภาพ ฟิล์มสตริป สไลด์ ฯลฯ
2. โสตวัสดุ (Audio Materisls) เช่น เครื่องบันทึกเสียง (Tape Recorder) เครื่องรับวิทยุ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ระบบขยายเสียง ฯลฯ
3. โสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Materials) เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ฯลฯ
4. เครื่องมือหรืออุปกรณ์ (Equipments) เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายฟิล์มสตริปเครื่องฉายสไลด์
5. กิจกรรมต่าง ๆ (Activities) เช่น นิทรรศการ การสาธิต ทัศนศึกษา ฯลฯ

สื่อการเรียนการสอนจำแนกตามรูปแบบ (Form) Louis Shores ได้แบ่งประเภทสื่อการสอนตามแบบไว้ ดังนี้
1. สิ่งตีพิมพ์ (Printed Materials) เช่น หนังสือแบบเรียน เอกสารการสอน ฯลฯ
2 วัสดุกกราฟิก เช่น แผนภูมิ ( Charts) แผนสถิติ (Graph) แผนภาพ (Diagram) ฯลฯ
3. วัสดุฉายและเครื่องฉาย (Projected Materials and Equipment) เช่น ภาพยนตร์ สไลด์ ฯลฯ
4. วัสดุถ่ายทอดเสียง (Transmission) เช่น วิทยุ เครื่องบันทึกเสียง

สื่อการเรียนการสอนตามลักษณะและการใช้
1. เครื่องมือหรืออุปกรณ์ (Hardware)
2. วัสดุ (Software)
3. เทคนิคหรือวิธีการ (Techinques or Methods)

คุณค่าและประโยชน์ของสื่อการเรียนการสอน
1. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
1.1 เรียนรู้ได้ดีขึ้นจากประสบการณ์ที่มีความหมายในรูปแบบต่างๆ
1.2 เรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง
1.3 เรียนรู้ได้ง่ายและเข้าใจได้ชัดเจน
1.4 เรียนรู้ได้มากขึ้น
1.5 เรียนรู้ได้ในเวลาที่จำกั
2. ช่วยให้สามารถเอาชนะข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเรียนรู้ ได้แก่
2.1 ทำสิ่งนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
2.2 ทำสิ่งซับซ้อนให้ง่ายขึ้น
2.3 ทำสิ่งเคลื่อนไหวช้าให้เร็วขึ้น
2.4 ทำสิ่งเคลื่อนไหวเร็วให้ช้าลง
2.5 ทำสิ่งเล็กให้ใหญ่ขึ้น
2.6 ทำสิ่งใหญ่ให้เล็กลง
2.7 นำสิ่งที่อยู่ไกลมาศึกษาได้
2.8 นำสิ่งที่เกิดในอดีตมาศึกษาได้ช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้
2.9 ช่วยให้จดจำได้นาน เกิดความประทับใจและมั่นใจในการเรียน
2.10 ช่วยให้ผู้เรียนได้คิดและแก้ปัญหา
2.11 ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล

คุณค่าของสื่อการเรียนการสอนการเรียนการสอน
1. สื่อการเรียนการสอนสามารถเอาชนะข้อจำกัดเรื่องความแตกต่างกันของประสบการณ์ดั้งเดิมของผู้เรียน คือเมื่อใช้สื่อการเรียนการสอนแล้วจะช่วยให้เด็กซึ่งมีประสบการณ์เดิมต่างกันเข้าใจได้ใกล้เคียงกัน
2. ขจัดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ ประสบการณ์ตรงบางอย่าง หรือการเรียนรู้
3. ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากสิ่งแวดล้อมและสังคม
4. สื่อการเรียนการสอนทำให้เด็กมีความคิดรวบยอดเป็นอย่างเดียวกัน
5. ทำให้เด็กมีมโนภาพเริ่มแรกอย่างถูกต้องและสมบูรณ์
6. ทำให้เด็กมีความสนใจและต้องการเรียนในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น เช่นการอ่าน ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ทัศนคติ การแก้ปัญหา ฯลฯ
7. เป็นการสร้างแรงจูงใจและเร้าความสนใจ
8. ช่วยให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์จากรูปธรรมสู่นามธรรม

สรุป
สื่อการเรียนการสอน  หมายถึง  สิ่งต่างๆ ที่เป็นบุคคล วัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคนิควิธีการ ซึ่งเป็นตัวกลางทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ได้อย่างง่ายและรวดเร็วเป็นเครื่องมือและตัวกลางซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการเรียนการสอนมีหน้าที่เป็นตัวนำความต้องการของครูไปสู่ตัวนักเรียนอย่างถูกต้องและรวดเร็วเป็นผลให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดมุ่งหมายการเรียนการสอนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ที่มา
ครูเชียงรายดอทเน็ต. (2555). https://www.kruchiangrai.net/2012/08/11/. [ออนไลน์].  เข้าถึงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561.
ครูบ้านนอก.com. (2560). http://krupatom.com. [ออนไลน์].  เข้าถึงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561.
จุฬาลักษณ์ สิขิวัฒน์ (2551). https://www.gotoknow.org/posts/239384. [ออนไลน์].  เข้าถึงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561.

นวัตกรรมการเรียนการสอน



นวัตกรรมการเรียนการสอน

จุฬาลักษณ์ สิขิวัฒน์ (2551) ได้รวบรวมเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนการสอนไว้ว่า นวัตกรรมการเรียนการสอน (Instructional Innovation) คือ สิ่งที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นวัตกรรมที่นำมาใช้อาจมีผู้คิดขึ้นก่อนแล้ว หรือคิดขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์นวัตกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแนวคิดหรือวิธีการ เช่น รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรืออาจมีลักษณะเป็นสื่อการเรียนการสอน เช่น บทเรียน คอมพิวเตอร์ และชุดการสอน เป็นต้น

องค์ประกอบของนวัตกรรมการเรียนการสอน
มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการได้แก่
1. วัตถุประสงค์ เป็นส่วนที่บอกว่านวัตกรรมนั้นใช้เพื่อพัฒนาอะไร ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้คืออะไร
2. ทฤษฎี หลักการหรือแนวคิด เป็นส่วนที่ทำให้นวัตกรรมนั้นมีความน่าเชื่อถือว่าเมื่อนำไปใช้จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และถ้าทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดนั้น มีงานวิจัยรองรับ ก็ยิ่งทำให้มั่นใจในความสำเร็จ
3. โครงสร้าง หรือขั้นตอนการใช้ เป็นส่วนที่แสดงภาพรวมของนวัตกรรม ถ้านวัตกรรมเป็นสื่อการเรียนการสอน ก็จะแสดงโครงสร้างที่เป็นส่วนประกอบต่างๆ เช่นชุดการสอน ประกอบด้วย ซองกิจกรรมประจำศูนย์ แต่ละซองบรรจุบัตรคำสั่ง บัตรเนื้อหา บัตรกิจกรรม บัตรคำถาม และบัตรเฉลย อาจมีรูปภาพ แผนภูมิ และของจริง นอกจากนี้ยังมีคู่มือครู ข้อทดสอบก่อน หลังการเรียน แผ่นฝึกปฏิบัติ และหากนวัตกรรมเป็นรูปแบบการสอนจะเป็นคำอธิบายการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการสอน และขั้นกิจกรรมภายหลังการสอน รวมทั้งคำแนะนำในการใช้นวัตกรรม
4. การประเมินผล เป็นส่วนที่แสดงความสำเร็จของนวัตกรรม ประกอบด้วยวิธีวัดผล เครื่องมือที่ใช้วัดผล และวิธีการประเมินผล

ประเภทของนวัตกรรมการเรียนการสอน
ระบบการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. นวัตกรรมที่ปรับปรุงทั้งระบบการเรียนการสอน
          1.1 รูปแบบวิธีการระบบ (The System Approach Model) ของ Dick และ Carey (1985)
          1.2 กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบรับประกันผล ของ ชนาธิป พรกุล (2535)
          1.3 การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ (e-Learning)
2. นวัตกรรมที่ปรับปรุงตัวป้อน
          2.1 แฟ้มงานของครู (Teaching Portfolio)
          2.2 การสอนเป็นทีม (Team Teaching)
          2.3 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
          2.4 หลักสูตรเพศศึกษา และชีวิตในครอบครัว
3. นวัตกรรมที่ปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอน
          3.1 รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning Model)
          3.2 การจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child -Centered Approach)

ครูบ้านนอก.com (2560) ได้รวบรวมเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนการสอนไว้ว่า
นวัตกรรมหมายถึง ความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น
นวัตกรรมการศึกษา” (Educational Innovation) คือ การนำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรือการกระทำ หรือสิ่งประดิษฐ์ขึ้น ทั้งในส่วนที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม ให้ดีขึ้น โดยอาศัยหลักการ ทฤษฎี ที่ได้ผ่านการทดลองวิจัยจนเชื่อถือได้นำมาใช้บังเกิดผลเพิ่มพูนประสิทธิภาพต่อการเรียนรู้

สาเหตุของการเกิดนวัตกรรมการศึกษา
1)  การเพิ่มปริมาณของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว
2)  การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว
3)  การเรียนรู้ของผู้เรียนมีแนวโน้มในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น
4)  ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีโทรคมนาคม

องค์ประกอบที่เป็นมิติสำคัญของนวัตกรรม มีอยู่ 3 ประการ คือ
1. ความใหม่ (Newness) หมายถึง เป็นสิ่งใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจเป็นตัวผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการ โดยจะเป็นการปรับปรุงจากของเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่เลยก็ได้
2. ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefits) หรือการสร้างความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ นวัตกรรม จะต้องสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้จากการพัฒนาสิ่งใหม่นั้นๆซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอาจจะวัดได้เป็นตัวเงินโดยตรง หรือไม่เป็นตัวเงินโดยตรงก็ได้
3. การใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ (Knowledge and Creativity Idea) สิ่งที่จะเป็นนวัตกรรมได้นั้นต้องเกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานของการพัฒนาให้เกิดซ้ำใหม่ ไม่ใช่เกิดจากการลอกเลียนแบบ การทำซ้ำ เป็นต้น

ประเภทของนวัตกรรมการศึกษา มี 5 ประเภท ได้แก่
1. นวัตกรรมด้านสื่อสารการสอน เนื่องจากมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เครือข่ายและเทคโนโลยีโทรคมนาคม
2. นวัตกรรมด้านวิธีการจัดการเรียนการสอน เป็นการใช้วิธีระบบในการปรับปรุงและคิดค้นพัฒนาวิธีสอนแบบใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองการเรียนรายบุคคล
3. นวัตกรรมด้านหลักสูตร เป็นการใช้วิธีการใหม่ๆในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และตอบสนองความต้องการสอนบุคคลให้มากขึ้น
4. นวัตกรรมด้านการวัดและการประเมินผล เป็นนวัตกรรมที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการวัดผลและประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำได้อย่างรวดเร็ว
5. นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ เป็นการใช้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารการศึกษาให้มีความรวดเร็วทันเหตุการณ์ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ครูเชียงรายดอทเน็ต (2555) ได้รวบรวมเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนการสอนไว้ว่า
          นวัตกรรมการศึกษา (Educational Innovation )” หมายถึง นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษา และการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษา และประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมการศึกษามากมายหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งนวัตกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว และประเภทที่กําลังเผยแพร่ เช่น การเรียนการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aids Instruction) การใช้แผ่นวีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ ( Hypermedia ) และอินเทอร์เน็ต [Internet] เหล่านี้ เป็นต้น
นวัตกรรมการเรียนการสอน เป็นการใช้วิธีระบบในการปรับปรุงและคิดค้นพัฒนาวิธีสอนแบบใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองการเรียนรายบุคคล การสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนแบบมีส่วนร่วม การเรียนรู้แบบแก้ปัญหา การพัฒนาวิธีสอนจำเป็นต้องอาศัยวิธีการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาจัดการและสนับสนุนการเรียนการสอน
ตัวอย่างนวัตกรรมที่ใช้ในการเรียนการสอน ได้แก่ การสอนแบบศูนย์การเรียน การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ การสอนแบบเรียนรู้ร่วมกัน และการเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การวิจัยในชั้นเรียน ฯลฯ
นวัตกรรมสื่อการสอน เนื่องจากมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เครือข่ายและเทคโนโลยีโทรคมนาคม ทำให้นักการศึกษาพยายามนำศักยภาพของเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ จำนวนมากมาย ทั้งการเรียนด้วยตนเองการเรียนเป็นกลุ่มและการเรียนแบบมวลชน ตลอดจนสื่อที่ใช้เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรม ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ตัวอย่างนวัตกรรม
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI: Computer-Assisted Instruction)
มัลติมีเดีย (Multimedia)
การประชุมทางไกล (Tele Conference)
วีดีทัศน์แบบมีปฎิสัมพันธ์ (Interactive Media/Video)
บทเรียนสำเร็จรูป (Programed Instruction)
เครื่องช่วยสอน (Teaching Machine)
วิทยุและโทรทัศน์ช่วยสอน (Teaching by Radio and TV)
ชุดการสอน (Learning Packages)

สรุป
นวัตกรรม หมายถึง ความคิด การปฏิบัติและการกระทำใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม
นวัตกรรมสื่อการสอนมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เครือข่ายและเทคโนโลยีโทรคมนาคม ทำให้นักการศึกษาพยายามนำศักยภาพของเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ จำนวนมากมาย ทั้งการเรียนด้วยตนเองการเรียนเป็นกลุ่มและการเรียนแบบมวลชน ตลอดจนสื่อที่ใช้เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรม ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ที่มา
ครูเชียงรายดอทเน็ต. (2555). https://www.kruchiangrai.net/2012/08/11/. [ออนไลน์].  เข้าถึงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561.
ครูบ้านนอก.com. (2560). http://krupatom.com. [ออนไลน์].  เข้าถึงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561.
จุฬาลักษณ์ สิขิวัฒน์ (2551). https://www.gotoknow.org/posts/239384. [ออนไลน์].  เข้าถึงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561.

การจัดการเรียนรู้โดยใช้การสอนแบบ 4 MAT


การจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT

ความหมายชอง 4 MAT
การสอนแบบ 4 MAT System หมายถึง กระบวนการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ โดยจัดแบ่งช่วงเวลาการเรียนให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละเรื่อง ยึดหลักการจัดประสบการณ์ที่หลากหลาย ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองผู้เรียนทุกแบบการเรียนให้มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติกิจกรรมที่ตนชอบและได้ปรับตัวเรียนรู้ในแบบการเรียนอื่น ๆ ด้วย และมีการจัดประสบการณ์ที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนาสมองซีกซ้ายและซีกขวาเพื่อให้สมองทั้งสองซีกมีพัฒนาการที่สมดุล

ประวัติความเป็นมา
          บอร์นิส แมคคาร์ธี (Bernice McCarthy) ผู้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้เป็นคนแรกเป็นนักการศึกษาชาวอเมริกันที่มีประสบการณ์ในการสอนหลายระดับชั้นเรียนมาเป็นเวลานาน รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำเด็กทั้งหลาย ทำให้เธอเกิดความเข้าใจและมั่นใจว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านสติปัญญา การรับรู้ และการเรียนรู้อย่างสิ้นเชิง จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดงานวิจัยของเธอขึ้นมา
ในปี ค.ศ. 1979 แมคคาร์ธี ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยชิ้นใหญ่จากบริษัท แมคโดนัลด์ ทำวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางสมองและสไตล์การเรียนรู้ของเด็ก นั่นคือจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแนวคิดที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลให้ชัดเจนและเป็นภาคปฏิบัติมากขึ้น แมคคาร์ธี ได้กลั่นกรองรูปแบบการศึกษาเกี่ยวกับสไตล์การเรียนรู้หลายรูปแบบ ในที่สุดก็ได้ดึงเอารูปแบบการเรียนรู้ของ เดวิด คอล์บ (David Kolb) ปราชญ์ทางการศึกษาชาวอเมริกัน มาเป็นแนวความคิดในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญตามทฤษฎีของคอล์บ (1976) นั้น จากการศึกษาพบว่ามี 2 มิติ ที่มีความสำคัญกับการเรียนรู้คือ การรับรู้ และกระบวนการ กล่าวว่าการเรียนเกิดจากการที่คนทั้งหลายรับรู้แล้ว นำเข้าไปจัดกระบวนการในสิ่งที่ตนรับรู้มาอย่างไร ถ้าจะลองนึกถึงตัวอย่าง คนที่มีความแตกต่างกันมากๆ ก็ได้แก่คนที่รับรู้ผ่านรูปธรรม แต่คนอีกประเภทหนึ่งรับรู้ผ่านนามธรรม คนสองกลุ่มนี้สร้างความคิดแตกต่างกันในเรื่องเดียวกัน

แนวความคิดของ เดวิด คอล์บ (David Kolb)
คอล์บ พิจารณาดูว่าคนบางคนมีกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง (ActiveExperimentation) ขณะที่บางคนอาจถนัดเรียนรู้โดยการสังเกตจากแหล่งต่างๆ แล้วสะท้อนกลับเป็นการเรียนรู้ (Reflective Observation) ซึ่งคนทั้งสองประเภทดังกล่าว เป็นผู้ที่มีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนเอื้ออำนวยแก่ผู้เรียนประเภทใดประเภทหนึ่งมากจนเกินไป จะทำให้ผู้เรียนอีกแบบหนึ่งขาดโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ
ผู้เรียนแบบที่ 1 (Active Experimentation) จะเรียนรู้ได้ดีและเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็ต่อเมื่อเขาได้ลงมือกระทำ มือไม้แขนขาได้สัมผัสและเรียนรู้ควบคู่ไปกับสมองทั้งสองด้านสั่งการเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ทั้งเนื้อทั้งตัวที่ต้องผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆประกอบกัน
ผู้เรียนแบบที่ 2 (Reflective Observation) จะเรียนรู้โดยการผ่านจิตสำนึกจากการเฝ้ามองแล้วค่อยๆ ตอบสนอง
ผู้เรียนแบบที่ 3 (Abstract Conceptualization) จะเรียนรู้โดยใช้สัญญาณหยั่งรู้มองเห็นสิ่งต่างๆเป็นรูปธรรมแล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์จากการรับรู้ที่ได้มาเป็นองค์ความรู้
ผู้เรียนแบบที่ 4 (Concrete Experience) จะเรียนรู้ได้ดีต่อเมื่อผ่านการวิเคราะห์ การประเมินสิ่งต่างๆ โดยการเอาตัวเองเข้าไปพิสูจน์หรือโดยการใช้หลักเกณฑ์แห่งเหตุผลการเรียนรู้แบบ 4 MAT
ทั้ง 4 กลุ่ม ต่างมีจุดดีจุดเด่นคนละแบบ ซึ่งเป็นโครงสร้างทางกลไกทางการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีอยู่จริงในทุกโรงเรียนทั่วโลก ดังนั้นหน้าที่ของผู้เป็นครูย่อมต้องพยายามหาหนทางที่จะทำให้เกิดสภาวะสมดุลทางการเรียนรู้ให้ได้สภาวะสมดุล การสรรค์สร้างโอกาสให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันทั้งโครงสร้างทางสติปัญญากลไกทางการเรียนรู้หรือการทำงานของสมองแตกต่างกันให้มีโอกาสแสดงออกซึ่งความสามารถของตนออกมา พร้อมทั้งรู้จักและสามารถนำวิธีการของเพื่อนคนอื่นมาปรับปรุงลักษณะการเรียนรู้ของตน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนให้ดีขึ้น
ดังนั้นในปี ค.ศ. 1980 แมคคาร์ธี จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวของคอล์บ มาประยุกต์และพัฒนาเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ตอบสนองการเรียนรู้ของผู้เรียน 4 แบบ (4 Types of students) ที่เรียกว่า 4 MAT* หรือ การจัดกิจกรรมการเรียนให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับระบบการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวา (แนวคิดของคลอ์บนี้ ได้รากฐานทฤษฎีมาจาก จอห์น ดิวอี้ เคิร์ท เลวิน และ ฌอง ปิอา เช่ต์)

แนวความคิดของ บอร์นิส แมคคาร์ธี (Bernice McCarthy)
แมคคาร์ธี ได้ขยายแนวคิดของคอล์บออกไปให้กว้างขึ้น โดยเสนอว่าผู้เรียนมีอยู่ 4 แบบหลักๆ ดังนี้
ผู้เรียนแบบที่ 1 (Type One Learner) ผู้เรียนถนัดการใช้จินตนาการ (Imaginative Learners)ผู้เรียนจะรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสและความรู้สึก และสามารถประมวลกระบวนการเรียนรู้ได้ดียิ่งในภาวะที่ตนเองได้มีโอกาสเฝ้ามอง หรือการได้รับการสะท้อนกลับทางความคิดจากที่ต่างๆ สมองซีกขวาของพวกนี้ทำหน้าที่เสาะหาความหมายของสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ สมองซีกซ้ายขุดค้นเหตุผลและความเข้าใจจากการวิเคราะห์ เป็นพวกที่ชอบถามเหตุผล คำถามที่คิดจะพูดขึ้นมาเสมอๆ คือ ทำไม” “ทำไมหรือ Why? ผู้เรียนที่อยู่ในรูปแบบนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมพวกเขาต้องเรียนสิ่งเหล่านี้ แล้วจะเกี่ยวข้องกับตัวเขาหรือสิ่งที่เขาสนใจอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องค่านิยม ความเชื่อ ความคิด คตินิยม ความรู้สึก ชอบขบคิดปัญหาต่างๆค้นหาเหตุผล และสร้างความหมายเฉพาะของตนเอง ผู้เรียนเช่นนี้จะต้องหาเหตุผลที่จะต้องเรียนรู้ก่อนสิ่งอื่นๆ จะเรียนรู้ได้ดีหากมีการถกเถียง อภิปราย โต้วาที กิจกรรมกลุ่ม การใช้การเรียนแบบสหร่วมใจ ครูต้องให้เหตุผลก่อนเรียนหรือระหว่างการเรียน
ผู้เรียนแบบที่ 2 (Type Two Learner) ผู้เรียนถนัดการวิเคราะห์ (Analytic Learners) จะรับรู้ในลักษณะรูปธรรมและนำสิ่งที่รับรู้มาประมวลกลไกหรือกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะของการมองสังเกตสมองซีกขวาเสาะหาประสบการณ์ที่จะสามารถผสมผสานการเรียนรู้ใหม่ๆ และต้องการความแจ่มกระจ่างในเรื่องคำตอบขององค์ความรู้ที่ได้มา ในขณะนี้สมองซีกซ้ายมุ่งวิเคราะห์จากความความรู้ใหม่เป็นพวกที่ชอบถามว่าข้อเท็จจริง คำถามที่สำคัญที่สุดของเด็กกลุ่มนี้ คือ อะไรหรือ What? ผู้เรียนแบบนี้ชอบการเรียนรู้แบบดั้งเดิม ต้องการศึกษาหาความรู้ ความจริง ต้องการข้อมูลที่เหมาะสม ถูกต้อง แม่นยำโดยอาศัยข้อเท็จจริง ข้อมูล ข่าวสาร มีความสามารถสูงในการนำความรู้ไปพัฒนาเป็นความคิดรวบยอด (Concept) ทฤษฎีหรือจัดระบบหมวดหมู่ของความคิดได้อย่างดี เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้โดยมุ่งเน้นรายละเอียดข้อเท็จจริงความถูกต้องแม่นยำ จะยอมรับนับถือเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้จริง หรือผู้มีอำนาจสั่งการเท่านั้น เด็กกลุ่มนี้จะเรียนอะไรต่อเมื่อรู้ว่าจะต้องเรียนอะไร และอะไรที่เรียนได้ สามารถเรียนได้ดีจากรูปธรรมไปสู่ความคิดเชิงนามธรรม การจัดการเรียนการสอนให้เด็กกลุ่มนี้จึงควรใช้วิธีบรรยายและการทดลอง การวิจัยหรือการทำรายงาน การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น
ผู้เรียนแบบที่ 3 (Type Three Learner) ผู้เรียนถนัดใช้สามัญสำนึก (Commonsense Learners) รับรู้โดยผ่านจากกระบวนความคิดและสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่การประมวลความรู้นั้น ผู้เรียนประเภทนี้จะต้องการการทดลอง หรือกระทำจริง สมองซีกขวามองหากลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์ความรู้ไปสู้การนำไปใช้ ในขณะที่สมองซีกซ้าย มองหาสิ่งที่จะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมคำถามยอดนิยมของกลุ่มนี้ คือ อย่างไรหรือ How? ผู้เรียนแบบนี้สนใจกระบวนการปฏิบัติจริงและทดสอบทฤษฎีโดยการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการวางแผนจากข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่เป็นนามธรรมมาสร้างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ใครเขาทำอะไรไว้บ้างแล้วหนอเด็กกลุ่มนี้ต้องการที่จะทดลองทำบางสิ่งบางอย่าง และต้องการที่จะฝึกปฏิบัติและต้องการเป็นผู้ปฏิบัติ (ถ้าครูยืนบรรยายละก็ เด็กพวกนี้จะหลับเป็นพวกแรก) พวกเขาใฝ่หาที่จะทำ สิ่งที่มองเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์และตรวจสอบว่าข้อมูลที่ได้มานั้นสามารถใช้ได้ในโลกแห่งความจริงหรือไม่ พวกเขาสนใจที่จะนำความรู้มาสู่การปฏิบัติจริงและอยากรู้ว่าถ้าจะทำสิ่งนั้น สิ่งที่ทำได้ ทำได้อย่างไร รูปแบบการเรียนการสอนที่ดีที่สุด คือ การทดลองให้ปฏิบัติจริง ลองทำจริง
ผู้เรียนแบบที่ 4 (Type Four Learner) ผู้เรียนที่สนใจค้นพบความรู้ด้วยตนเอง (Dynamic Learners) ผู้เรียนจะรับรู้ผ่านสิ่งที่เป็นรูปธรรมและผ่านการกระทำ สมองซีกขวาทำงานในการถักทอความคิดให้ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น ในขณะที่สมองซีกซ้ายเสาะหาการวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและโดดเด่นขึ้น เป็นพวกที่ชอบตั้งเงื่อนไข คำถามที่ผุดขึ้นในหัวใจของเด็กกลุ่มนี้บ่อยๆ คือ ถ้าอย่างนั้น” “ถ้าอย่างนี้” “ถ้า……” หรือ IF? ผู้เรียนแบบนี้ชอบเรียนรู้โดยการได้สัมผัสกับของจริง ลงมือทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ และค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง ชอบรับฟังความคิดเห็นหรือคำแนะนำ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลเป็นความรู้ใหม่ เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถที่จะมองเห็นโครงสร้างของความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นรูปแบบของความคิดที่แปลกใหม่เพื่อตนเองหรือผู้อื่น เด็กกลุ่มนี้จะมองเห็นอะไรที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง มีความซับซ้อน จะเรียนได้ดีที่สุดโดยใช้วิธีการสอนแบบค้นพบด้วยตนเอง (Self-Discovery Method)
ผู้คิดทฤษฎีนี้เชื่อว่า เราจำเป็นต้องสอนเด็กโดยใช้วิธีการสอนทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว 4 อย่างเท่าๆ กัน เพราะทักษะทางธรรมชาติของผู้เรียนทั้ง 4 อย่างเป็นสิ่งที่เราต้องการ ในชั้นเรียนหนึ่งๆ นั้น มักจะมีผู้ถนัดการเรียนรู้ทั้ง 4 แบบ อยู่รวมกัน ดังนั้นครูจำเป็นต้องใช้วิธีการสอนที่เหมาะสมทั้ง 4 แบบ อย่างเสมอภาคกัน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานตามรูปแบบการเรียนรู้ที่ตนถนัด จากการหมุนเวียนรูปแบบการสอนทั้ง 4 อย่างนี้ ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนาความสามารถด้านอื่นที่ตนไม่ถนัดด้วยวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งยังมีโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถอย่างน้อย ร้อยละ 25 ของเวลาที่ท้าทายพวกเขาส่วนเวลาที่เหลืออาจไม่เป็นที่ต้องใจเท่าไรในการจัดแผนการสอนแบบ 4 MAT นั้น ครูต้องเข้าใจการทำงานและความถนัดของสมองส่วนบนที่แบ่งเป็นซีกซ้ายกับซีกขวาของมนุษย์ กล่าวคือ สมองซีกซ้ายจะถนัดในเรื่องรายละเอียด ภาษาความจำ การจัดลำดับ วิเคราะห์ และเหตุผล ส่วนสมองซีกขวาถนัดในเรื่องการมองภาพรวมจินตนาการ อารมณ์ความรู้สึก การเคลื่อนไหว มิติสัมพันธ์ ศิลปะ และสุนทรียภาพ โดนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องดำเนินสลับกันไปเพื่อให้สมองทั้งสองซีกได้ทำงานอย่างสมดุล
จากลักษณะของผู้เรียนทั้ง 4 แบบดังกล่าวข้างต้น Morris และ McCarthy ได้นำมาเป็นแนวคิดพื้นฐานที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบโฟร์แม็ทซิสเต็ม โดยจัดขั้นตอนการสอนให้ผู้เรียนสามารถใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างเต็มที่เป็นการพัฒนาพหุปัญหาทั้ง 8 ด้าน

ขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้
- การเตรียมการจัดกระบวนการเรียนรู้
1. การบูรณาการประสบการณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของตนเองเป็นการให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์อย่างเป็นรูปธรรมไปสู่การสังเกต คิดวิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง ผู้สอนกระตุ้นสร้างแรงจูงใจโดยสร้างคำถาม สร้างความเร้าใจ อภิปราย
2. การสร้างความคิดรวบยอด ผู้สอนเตรียม ข้อมูลให้ข้อมูล ให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงประสบการณ์ข้อมูล หลักการมาคิดวิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง
3. การเรียนรู้โดยการปฏิบัติอย่างเฉพาะตัว ผู้สอนคือโค้ช อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ
- การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 8 ขั้นตอน เป็นการตอบสนองพัฒนาการด้านสมองของผู้เรียนที่มีรูปแบบการเรียนที่แตกต่างกัน 4 แบบ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนทั้ง 4 แบบ มีความสุข พึงพอใจในการเรียนและมีโอกาสประสบผลสำเร็จในการเรียนตามวิธีหรือแบบการเรียนของตนเอง ซึ่งอธิบายรายละเอียดของขั้นตอนการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบ 4 MAT ของแมคคาร์ธี หรือไม่

การจัดกระบวนการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้ 8 ขั้นตอนของวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 การบูรณาการประสบการณ์ให้เป็นส่วนของตนเอง
เป็นช่วงที่ผู้เรียนใช้ประสบการณ์อย่างเป็นรูปธรรมไปสู่การสังเกตคิดวิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง บทบาทของครูเป็นผู้กระตุ้นสร้างแรงจูงใจ วิธีการ คือ การสร้างคำถาม สร้างความเร้าใจ การอภิปราย การให้ผู้เรียนทำกิจกรรม การออกไปพบของจริง ในส่วนนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 ขั้นสร้างประสบการณ์ (Creating an Experience) : นำอย่างน่าสนใจ
เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะเชื่อมโยงประสบการณ์ด้วยตนเองทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าสิ่งที่จะเรียนนั้นมีความหมายโดยตรงกับตัวเขาเอง โดยการให้ผู้เรียนได้สัมผัส ได้เกิดความรู้สึก ได้ซักถามหรือได้ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่กำหนดจะเรียน ผู้สอนอาจใช้กิจกรรม เกม การออกไปสัมผัสกับของจริง การตั้งคำถามให้คิด หรือให้จินตนาการ เป็นขั้นที่เน้นการใช้สมองซีกขวา
ทักษะที่สำคัญในช่วงนี้ คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะการสร้างมโนภาพ ตลอดจนทักษะในการร่วมกิจกรรมกลุ่ม
ขั้นที่ 2 ขั้นวิเคราะห์ประสบการณ์ (Analyzing the experience) : ให้คิดความสำคัญ
           กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและอยากรู้ เด็กจะใช้สมองซีกซ้ายวิเคราะห์ต่อจากขั้นที่ 1 เป็นขั้นที่เด็กต้องหาเหตุผลเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับในขั้นแรก เด็กจะช่วยกันอภิปราย และอธิบายให้เหตุผลตามความคิดเห็นของผู้เรียนแต่ละคน
          ทักษะที่สำคัญในช่วงนี้ คือ ทักษะในการวินิจฉัย วิเคราะห์อภิปรายในขั้นนี้ ผู้สอนอาจใช้เทคนิคการอภิปราย เทคนิคการเขียนผังความคิด (Mind Mapping) และวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขารู้ ผู้เรียนต่างก็มีความสุขสนุกมากที่ได้มีโอกาสคิดและผู้สอนก็จะพบว่าสิ่งที่ผู้เรียนระดมความคิดเป็นเรื่องดีและเด็กสามารถคิดได้เอง
ส่วนที่ 2 การสร้างความคิดรวบยอด
ในการเรียนรู้ในขั้นตอนการเชื่อมโยงประสบการณ์ ข้อมูล หลักการ มาคิดวิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง เพื่อสร้างความคิดรวบยอด บทบาทของครู ผู้เตรียมข้อมูล ให้ข้อมูล สาธิต วิธีการ ให้ผู้เรียนค้นคว้า หาข้อสรุป ในส่วนนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 3 ขั้นปรับประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอด (Integrating reflection concepts) : ช่วยกันค้นคว้า
ขั้นนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์และไตร่ตรองความรู้ที่ได้จากขั้นแรก เชื่อมโยงกับทฤษฎีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจนสามารถที่จะเรียนรู้ต่อไปได้เป็นขั้นตอนที่ต้องจัดกิจกรรมให้เด็กทำแล้วสร้างความคิดรวบยอดเป็นของตนเองได้ เป็นขั้นที่ต้องใช้สมองซีกขวา
ทักษะที่สำคัญในช่วงนี้คือ ทักษะการสร้างรูปแบบการจัดกระบวนการวิเคราะห์ การจัดลำดับความสัมพันธ์ การจัดประสบการณ์เปรียบเทียบ
ขั้นที่ 4 พัฒนาความคิดด้วยข้อมูล (Developing theories and concepts) : นำมาสรุปเป็นหลักการ
เป็นขั้นที่ให้ข้อมูลรายละเอียดเพื่อทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจ จนสร้างความคิดรวบยอดเรื่องที่เรียนได้ เน้นการใช้สมองซีกซ้าย ผู้สอนควรหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลความรู้ด้วยการบรรยาย ควรใช้วิธีอื่นแทน เช่น การให้ผู้เรียนค้นคว้า ทดลอง สาธิตให้ผู้เรียนรู้จักวิทยากรท้องถิ่น
        ทักษะสำคัญในช่วงนี้คือ ความสัมพันธ์ การจัดลำดับ การทดลอง การสรุปความ
ส่วนที่ 3 การปฏิบัติการเรียนรู้ตามลักษณะเฉพาะตัว
กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเคลื่อนไหวจากขั้นสร้างความคิดรวบยอดมาสู่การลงมือกระทำหรือลงมือทดลองตามความคิดของผู้เรียน บทบาทของครู คือ โค้ช (Coach)หรือผู้ให้คำแนะนำ ผู้อำนวยการความสะดวก ผู้ให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง วิธีการ ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติในส่วนนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน
ขั้นที่ 5 ทำตามแนวคิดที่กำหนด (Working on defined concepts) : ทำงานตามแนวคิด
ผู้เรียนจะทำตามใบงานหรือคู่มือหรือแบบฝึกหัดหรือทำตามขั้นตอนที่กำหนด เน้นการใช้สมองซีกซ้าย
ทักษะที่ใช้ในช่วงนี้ คือ ทักษะการถาม การสำรวจ การเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์การทดลอง การลองผิดลองถูก การทำนาย การบันทึก
ขั้นที่ 6 สร้างชิ้นงานตามความถนัด/ความสนใจ (Messing around) : ประดิษฐ์งานส่วนตน
เป็นขั้นบูรณาการการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง เพราะเป็นขั้นที่ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความสนใจ ความถนัด ความเข้าใจเนื้อหาวิชา ความซาบซึ้งและจินตนาการของตนเองออกมาเป็นรูปธรรม ในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ตนเองเลือก เช่น เป็นสิ่งประดิษฐ์ สมุดรวมภาพ ภาพวาด นิทาน บทกวี หรือบทละคร หรือหนังสือ เน้นการใช้สมองซีกขวา
กิจกรรมขั้นนี้เป็นผลมาจากการลงมือปฏิบัติจากขั้นที่ 5 ต้องมีลักษณะที่กระตุ้นหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดไม่ใช่เกิดความจำแต่เพียงอย่างเดียวและในส่วนนี้คือที่สามารถปรากฏเป็นแฟ้มผลงานของผู้เรียน (Portfolio) ได้ ถ้าผู้สอนวางแผนการทำงานล่วงหน้าไว้อย่างดี เด็กสามารถสร้างผลงานได้โดย ผู้สอนไม่ต้องคอยพะวงเรื่องการทำแฟ้มผลงานผู้เรียน
ทักษะที่ใช้ในช่วงนี้ คือ ทักษะการจัดระบบ การจัดลำดับก่อนหลัง การแก้ปัญหา การลงมือทำงาน การสรุป จดบันทึก
ส่วนที่ 4 การบูรณาการการประยุกต์ใช้กับประสบการณ์ของตน
กระบวนการเรียนรู้ในส่วนที่ 4 เกิดจากกิจกรรมของการลงมือกระทำด้วยตนเองจนสำเร็จและไปสู่การรับรู้และ มีความรู้สึกที่ดีเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น บทบาทของครู เป็นผู้ประเมิน/ผู้ซ่อมเสริมรวมทั้งเป็นผู้เรียนร่วมกัน วิธีการ การค้นหาตัวเอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแนะนำผู้อื่น ในส่วนนี้แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ขั้น
ขั้นที่ 7 วิเคราะห์ผลและประยุกต์ใช้ (Analyzing their own application of the concepts for usefulness) : รายงานผลประยุกต์ใช้
เป็นขั้นที่ผู้เรียนได้ชื่นชมกับผลงานของตนเองหรือผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ไปสู่กิจกรรมอื่น หรือผู้เรียนนำผลงานของตนเองเสนอในกลุ่มย่อยๆ ให้เพื่อนๆ ติชมและปรับปรุงแก้ไข เป็นขั้นที่เน้นการใช้สมองซีกซ้าย
ทักษะที่สำคัญในช่วงนี้ คือ ทักษะการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ขั้นที่ 8 แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับผู้อื่น (Doing it themselves and sharing what they do with others) : ให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์
ในขั้นสุดท้ายนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการค้นคว้าหรือลงมือกระทำกับคนอื่น ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับเรื่องอื่น ๆ ที่อาจพบในสถานการณ์ใหม่ ได้แก่ จัดแสดงนิทรรศการ แสดงผลงานในวันสำคัญ ขั้นนี้เน้นการใช้สมองซีกขวา
ทักษะที่ใช้ในช่วงนี้ คือการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ซึ่งกันและกัน การมองอนาคตตลอดจนการชื่นชมตนเอง

ลักษณะเด่นของรูปแบบ
ผู้เรียนจะสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองในเรื่องที่เรียน จะเกิดความรู้ ความเข้าใจ และนำความรู้ความเข้าใจนั้นไปใช้ได้ และสามารถสร้างผลงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง รวมทั้งได้พัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ อีกจำนวนมาก
ดังนั้น ลักษณะเด่นของรูปแบบการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบ 4 MAT จะช่วยส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ตามกรอบความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้แก่
1. การนำเสนอประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับผู้เรียน
1.1 การเสริมสร้างประสบการณ์ (สมองซีกขวา)
1.2 การวิเคราะห์ประสบการณ์ที่ได้รับ (สมองซีกซ้าย)
2. การเสนอเนื้อหา สาระข้อมูลแก่ผู้เรียน (Presentation)
2.1 การบูรณาการประสบการณ์สร้างความคิดรวบยอด (สมองซีกซ้าย)
2.2 การพัฒนาเป็นความคิดรวบยอด (สมองซีกซ้าย)
3. การฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาความคิดรวบยอด
3.1 ปฏิบัติตามขั้นตอน (สมองซีกซ้าย)
3.2 การนำเสนอผลการปฏิบัติงาน (สมองซีกขวา)
4. การนำความคิดรวบยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ (Application)
4.1 การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนางาน (สมองซีกซ้าย)
4.2 การนำเสนอผลงานการเผยแพร่ (สมองซีกขวา)

ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT


สรุป
การเรียนรู้แบบ 4 MAT เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้โดยใช้สมองซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุลย์ รู้จักคิด วิเคราะห์ ปฏิบัติจริง
การจัดกระบวนการเรียนรู้ 8 ขั้นตอนของวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) ได้แก่
ขั้นที่ 1 ขั้นสร้างประสบการณ์ (Creating an Experience) : นำอย่างน่าสนใจ
ขั้นที่ 2 ขั้นวิเคราะห์ประสบการณ์ (Analyzing the experience) : ให้คิดความสำคัญ
ขั้นที่ 3 ขั้นปรับประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอด (Integrating reflection concepts) : ช่วยกันค้นคว้า
ขั้นที่ 4 พัฒนาความคิดด้วยข้อมูล (Developing theories and concepts) : นำมาสรุปเป็นหลักการ
ขั้นที่ 5 ทำตามแนวคิดที่กำหนด (Working on defined concepts) : ทำงานตามแนวคิด
ขั้นที่ 6 สร้างชิ้นงานตามความถนัด/ความสนใจ (Messing around) : ประดิษฐ์งานส่วนตน
ขั้นที่ 7 วิเคราะห์ผลและประยุกต์ใช้ (Analyzing their own application of the concepts for usefulness) : รายงานผลประยุกต์ใช้
ขั้นที่ 8 แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับผู้อื่น (Doing it themselves and sharing what they do with others) : ให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์

ที่มา
ธารทิพย์ แก้วเหลี่ยม. (2551). https://www.gotoknow.org/posts/236676. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561.
ประภัสรา โคตะขุน. (2553). https://sites.google.com/site/prapasara/xbrm-khwam-hlak-hlay-thang-chiwphaph. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561.
Datenpdf.com. (2554). https://datenpdf.com/download/4-4-mat_pdf. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561.
Krusucheera. (2554). http://krusucheera.blogspot.com/2011/04/4-mat.html. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561.


สื่อการเรียนการสอน

สื่อการเรียนการสอน จุฬาลักษณ์ สิขิวัฒน์ ( 2551) ได้รวบรวมเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอนไว้ว่า ความหมายของสื่อการเรียนการสอนว่าเป็นเครื่อ...